สิงหาคม 22, 2550

ความทรงจำกับการสร้างสรรค์

ผมรู้สึกว่าการทำงานสร้างสรรค์ เช่น การเขียนเพลง
สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ความไพเราะ หรือเมโลดี้ที่สวยงาม
แต่มันคือความทรงจำในเพลงๆนั้น ของผู้ที่แต่ง
การที่เราจะรู้สึกอิน กับการเล่นหรือร้องเพลงซักเพลง
ใช่มาจากความซาบซึ้งที่ได้รับจากตัวเมโลดี้ หรือทำนอง
แต่มันคือความหมายที่ซ่อนอยู่ในเพลงนั้น (อาจจะซ่อนหรือไม่ซ่อน
อันนี้แล้วแต่เทคนิคของนักแต่งเพลงแต่ละคน)
ยกตัวอย่าง ความรู้สึกรักใครซักคน ทำให้เรามีแรงในการเขียน
เพลงออกมาหนึ่งเพลง ในเพลงนั้น เวลาที่เราร้อง หรือฟัง
สิ่งที่ได้แน่ๆ ไม่มีทางเปลี่ยนไปตามกาลเวลาก็คือ
เรารู้ว่าเรากำลังพูดหรือร้องอะไร ต้องการสื่ออะไร
อารมณ์ที่ขับออกมาในเพลงนั้น จะเป็นอารมณ์ที่เราเข้าใจ
และอินกับมันได้อย่างถึงที่สุด

แน่นอนว่า การคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบ Input คือ
มองเพียงขาเข้าไปในระบบ แต่ในแง่ของ Output
มันอาจไม่สามารถรองรับอารมณ์คนส่วนใหญ่
หรือคนที่รับเอาสิ่งที่เราสื่อสารออกมาได้ เป็นไปได้
มันอาจโดนใจคนบางกลุ่ม หรือคนกลุ่มใหญ่ๆ
ปัญหาคือ.. เราจำเป็นด้วยหรือครับ ที่ต้องไปสนใจ

ในเพลงหนึ่ง เรามีเนื้อหาว่า "ดวงตาที่เธอมองมา
คือสิ่งสุดท้ายในโลกนี้ที่ฉันต้องการครอบครองก่อนจากไป"
มันอาจมีความหมายกับเรา ถึงเธอผู้เราแต่ให้
หรือ ในแง่ของคนหมู่มาก เนื้อหานี้อาจไปกระทบอารมณ์คน
ที่มีความรู้สึกกับใครซักคน ในรูปแบบที่ละม้ายคล้ายกัน
เพียงแต่ไม่เป๊ะๆ เขาอาจยึดเป็นอารมณ์ของเขา
เวลาฟังเพลงเราแล้วอิน

ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งที่เราควรยินดี แต่ไม่ใช่มุ่งหวัง

ศิลปินอิสระที่ทำเพลงเพื่อตัวเอง และคิดหมกมุ่นกับอารมณ์
ซึ่งตัวตนเป็นผู้กำหนดเพื่อระบายออกมาให้โลกนี้ ควรได้รับการสรรเสริญ
กว่าศิลปินอิสระที่ทำเพลงแบบคิดเผื่อคนอื่นๆ โดยไม่มีเรื่องราว
ที่ซ่อนเร้น ความทรงจำ หรือเนื้อหาที่ประทับใจใดๆในหัว
เมื่อวันหนึ่งข้างหน้า เขาย้อนกลับมาฟังเพลงของเขา
เขาอาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าแต่งไปทำไม ... เพราะมันไม่ความหมายอะไรเลย..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น